ทันตกรรมสำหรับเด็ก

  • ข้อมูลเบื้องต้น
  • มาทำฟันครั้งแรก/ตรวจฟัน
  • ปวดฟัน
  • ทันตกรรมป้องกัน

ข้อมูลเบื้องต้น

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของการมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี คือ การเริ่มต้นการรักษาอย่างรวดเร็วทันท่วงที ซึ่งหากสามารถเริ่มการรักษาได้ตั้งแต่วัยเด็กจะเป็นผลดีกับคนไข้จวบจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ประโยชน์ของการเริ่มต้นดูแลรักษาฟันตั้งแต่วัยเด็ก

  • เพื่อควบคุมให้ฟันน้ำนมหลุดตามเวลาอันควร ไม่หลุดก่อนหรือล่าช้าจากเวลาที่เหมาะสม เพราะฟันน้ำนมแต่ละซี่มีหน้าที่ในการรักษาช่องและตำแหน่งให้ฟันแท้ขึ้นมาอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถป้องกันหรือบรรเทาปัญหาฟันซ้อนเก ฟันห่าง ฟันล้ม ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องจัดฟันในอนาคต
  • ลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งเป็นตัวก่อโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ
  • เสริมสร้างหรือรักษารูปร่างปากและขากรรไกรที่ปกติและเหมาะสม
  • เมื่อมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี การเรียงตัวของฟัน รวมถึงการสบฟันที่ดี จะช่วยพัฒนาการทักษะในการพูดและจะพัฒนาได้สมวัย

 

การรักษาทางทันตกรรมสำหรับเด็ก

  • การตรวจภายในช่องปากอย่างละเอียด
  • การขัดฟันหรือขูดหินปูน
  • การเคลือบฟลูออไรด์
  • การอุดฟันน้ำนม อุดฟันแท้
  • การเคลือบหลุมร่องฟัน
  • การอุดฟันเพื่อป้องกันฟันผุ
  • การทำครอบฟันเด็ก
  • การรักษารากฟันเด็ก
  • เครื่องมือจัดฟันเด็กแบบถอดได้
  • เครื่องมือเพื่อแก้ไขหรือฝึกการมีสุขนิสัยที่เหมาะสม เช่น เครื่องมือป้องกันการดูดนิ้ว
  • เครื่องมือป้องกันการเคลื่อนที่ของฟันซี่ข้างเคียงที่มาบดบังการขึ้นของฟันแท้ซี่ถัดไป
  • การแนะนำการดูแลสุขภาพปากและฟัน
  • การให้คำแนะนำการบริโภคอาหาร

มาทำฟันครั้งแรก/ตรวจฟัน

การมาทำฟันครั้งแรกของคนไข้ตัวน้อยมีความสำคัญอย่างมากต่อการเริ่มต้นการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันจวบจนวัยผู้ใหญ่ หากประสบการณ์แรกในการทำฟันอยู่ในบรรยากาศที่ดี คนไข้ตัวน้อยจะมีความประทับใจและเปิดรับกับกิจกรรมใหม่ในชีวิต คือ การทำฟัน และจะสามารถดูแลฟันได้เป็นอย่างดี แต่หากคนไข้ตัวน้อยยังมีความกังวลหรือหวาดกลัวกับการทำฟัน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทันตแพทย์จะทำการเสริมสร้างและเปลี่ยนความกังวลและความกลัวให้เกิดการยอมรับในการทำฟันได้ในที่สุด ซึ่งทันตแพทย์จะทำการ บอก แสดง และทำให้ดู (Tell show do) ซึ่งเป็นการแนะนำอุปกรณ์ในการทำฟันด้วยภาษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการของคนไข้ตัวน้อยแต่ละคน รวมทั้งเตรียมความพร้อม ความเข้าใจในกระบวนการรักษา ถ้าคนไข้ตัวน้อยให้ความร่วมมือดีกับการบอก แสดงทำ ทันตแพทย์จะทำการให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ เป็นต้น

ปวดฟัน

คนไข้ตัวน้อยปวดฟัน

สาเหตุของการปวดฟันมีได้หลายประการดังต่อไปนี้

1) ฟันผุ

2) เหงือกอักเสบ

3) ฟันน้ำนมโยก กำลังจะหลุด

4) ฟันแท้กำลังจะขึ้น

การให้การรักษาเพื่อบำบัดให้หายจากการปวดฟันในคนไข้ตัวน้อยไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป โดยเฉพาะถ้าคนไข้ตัวน้อยมาหาทันตแพทย์เป็นประจำ มีความเข้าใจ ยอมรับ คุ้นเคยกับการทำฟันเป็นอย่างดี แม้ว่าบางกรณีทันตแพทย์มีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาชาร่วมกับการรักษาต่างๆ เช่น อุดฟัน รักษารากฟันน้ำนม ถอนฟันน้ำนม แต่ทันตแพทย์จะมีแนวทางและวิธีการสื่อสารด้วยการเลือกคำที่เหมาะกับคนไข้ตัวน้อยแต่ละวัยและพัฒนาการเพื่อเสริมสร้างการยอมรับได้

ทันตกรรมป้องกัน

การส่งเสริมป้องกันปัญหาในช่องปากและฟันในเด็ก ถือเป็นหัวใจหลักของการดูแลสุขภาพฟันอย่างยั่งยืน หากคนไข้ตัวน้อยได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจการทำฟัน ดูแลฟันตัวเองได้ดี เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพฟันที่ดี รู้จักแนวทางในการดูแล แก้ปัญหาหาโรคปากและฟันได้อย่างมีเหตุผล หลังจากจบการรักษาต่างที่จำเป็นแล้วทันตแพทย์จะให้คำแนะนำงานส่งเสริมป้องกันดังต่อไปนี้

1) สอนแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน
2) เคลือบหลุมร่องฟัน
3) เคลือบฟลูออไรด์
4) กำหนดมาตรวจเป็นระยะตามความเหมาะสม เช่น ทุกๆหกเดือนหรือสามเดือน เพื่อเฝ้าระวังฟันผุ กำหนดฟันขึ้น การเรียงตัวของฟัน หรือสภาพต่างๆ รวมถึงคุณภาพการแปรงฟันของคนไข้ตัวน้อยแต่ละคนด้วย